UNHCR ขยายความร่วมมือและมอบความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ในโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 4” กับ สำนักจุฬาราชมนตรี และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA)
กรุงเทพฯ – สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จัดงานแถลงข่าวโครงการ
"รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 4" ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และขยายความร่วมมือภาคเอกชนกับสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เพื่อขยายการรับรู้และร่วมระดมทุนทานประจำปีซะกาตและทานซอดาเกาะห์มอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ปัจจุบันสงครามและความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติมากกว่าร้อยละ 1 ที่ตกเป็นผู้พลัดถิ่น โดยผู้คนมากกว่า 79.5 ล้านคนถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศเพื่อเอาชีวิตรอดจากการประหัตประหาร ความหวังที่หลายประเทศจะกลับคืนสู่สันติภาพยังคงริบหรี่ เช่น ในประเทศซีเรีย เยเมน อิรัก และชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ ส่งผลให้ชาวมุสลิมจำนวนมากไม่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงนี้กับครอบครัวในประเทศของตน อีกทั้งต้องถือศีลอดอย่างขาดแคลนและเปราะบางมากที่สุดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สานต่อโครงการ “รอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต” ในปีที่ 4 ร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และขยายความร่วมมือภาคเอกชนกับสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เพื่อขยายการรับรู้และร่วมระดมทุนทานประจำปีซะกาตและทานซอดาเกาะห์มอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์
“จำนวนผู้ลี้ภัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นสถิติที่สูงที่สุดในการทำงาน 70 ปีของ UNHCR” คุณจูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าว
“ทั้งผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และชุมชนที่มอบที่พักพิง ต้องเฉลิมฉลองเดือนอันศักดิ์สิทธิ์อย่างขัดสน ความร่วมมือและความเมตตาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากทุกภาคส่วนในสังคม มีความหมายมากที่สุดในขณะนี้และสามารถเปลี่ยนชีวิตผู้ลี้ภัยได้ทุกวินาที”
จากการสนับสนุนของชาวมุสลิมอย่างดีตลอดปีที่ผ่านมา โครงการฯ ในปีนี้ ได้ขยายความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับซะกาตในประเทศเลบานอน จอร์แดน มอริเตเนีย อิรัก เยเมน และบังคลาเทศ มายังประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่ ตุรกี ไนจีเรีย อินเดีย อิหร่าน บูร์กินาฟาโซ และโซมาเลีย
“ในขณะที่วิกฤตผู้พลัดถิ่นในหลายประเทศยังคงยืดเยื้อ วิกฤตใหม่ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติในอีกหลายพื้นที่ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิด การมอบช่วยเหลือด้านปัจจัยพื้นฐานให้ได้ครบทุกครอบครัวและทุกคนจึงเป็นเรื่องยากที่ใครสามารถทำได้เพียงลำพัง” อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าว “ผมดีใจที่เห็นการช่วยเหลือเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตมนุษยธรรมนี้ และปีนี้เราต้องช่วยกันส่งต่อทานซะกาตถึงพี่น้องผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นให้ได้อีกเกือบล้านคนให้พวกเขาได้มีโอกาสถือศีลอดอย่างที่ควร”
รายงานพิเศษเกี่ยวกับ “ทานประจำปีซะกาตเพื่อผู้ลี้ภัย” ของ UNHCR ที่จัดทำขึ้นทั่วโลกเพื่อส่งเสริมบุคคลทั่วไปและภาคเอกชนอิสลามได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกระบุว่า UNHCR สามารถมอบความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศชาวมุสลิมที่เปราะบาง ซึ่งรวมถึง เด็กกำพร้า แม่เลี้ยงเดี่ยว หญิงหม้าย และผู้สูงอายุ ได้เพียง 740 คนใน พ.ศ. 2559 ในปีแรกของโครงการฯ แต่ด้วยความร่วมมือของชาวมุสลิมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทานซะกาตที่บริจาคผ่าน UNHCR สามารถนำไปช่วยเหลือชีวิตผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนใน พ.ศ. 2562
“การเติบโตของธุรกิจอย่างมั่นคงต้องอาศัยการพึ่งพากันและกันในสังคม ผมอยากให้ผู้ประกอบการทั้งไทยมุสลิมและทุกธุรกิจหันมาตระหนักถึงการมีส่วนรับผิดชอบต่อส่วนรวม และร่วมกันสร้างสังคม การรับรู้และความเข้าใจในส่วนนี้ หรือแม้กระทั่งการช่วยระดมทุนเพื่อให้การพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจเป็นไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นด้วยมือของเราเอง” คุณดาวุทธ นาวีวงษ์พนิต รองนายกดูแลฝ่ายต่างประเทศ สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม กล่าว
UNHCR ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิทาบาห์ องค์กรชั้นนำทางศาสนาเพื่อให้ได้รับการรับรองระดับโลกจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) จากประเทศอียิปต์ เยเมน โมร็อกโก มอริเตเนีย เพื่อรับรองว่า UNHCR มีคุณสมบัติ ในการรับทาน ซะกาตและสามารถมอบความช่วยเหลือนี้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิม ให้พวกเขาได้มีอาหารที่พอเพียง น้ำสะอาดไว้ใช้และดื่ม ที่พักพิงที่ปลอดภัย
สำนักจุฬาราชมนตรี และสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม ได้สนับสนุนการทำงานของ UNHCR ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในฐานะองค์กรภาคีเพื่อมนุษยธรรม โครงการฯ นี้จะช่วยมอบงบประมาณให้ UNHCR สามารถดำเนินงานมอบความคุ้มครองที่ทำอยู่เดิมได้ พร้อมให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมในการตั้งรับต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย UNHCR จะนำเงินบริจาคทั้งหมดไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ตรงตามคุณสมบัติที่ควรได้รับภายใต้การดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อความโปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่การบริจาคจนถึงการให้ ร่วมบริจาคทานของท่านได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/6061a47b7a
ภาพ : คุณอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ (กลาง) ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล (ที่ 2 จากขวา) รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี สำนักจุฬาราชมนตรี และ คุณดาวุทธ นาวีวงษ์พนิต (ที่ 2 จากซ้าย) รองนายก สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม เป็นผู้บรรยาย
นอกจากนี้ คุณสมชาย เพียรมานะ (ซ้ายสุด) และ คุณศักดรินทร์ สาดและ (ขวาสุด) ให้เกียรติร่วมงาน ณ ห้องวีไอพี ชั้น 2 มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2564
บุคคลในภาพแรก (จากซ้ายไปขวา) 1. สมชาย เพียรมานะ กรรมการ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย 2. ดาวุทธ นาวีวงษ์พนิต รองนายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม 3. อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย 4. อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี สำนักจุฬาราชมนตรี 5. คุณศักดรินทร์ สาดและ ผู้ก่อตั้งเพจละหมาดต่างถิ่น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คอนจังค์ชั่น พับลิครีเลชั่นส์ ณักษ์ลภัส ปั้นทิม (ทราย) โทร. 094 – 626 - 9245 อีเมล nuklapas.saii@gmail.com กัณฐิกา ฉมาภิสิษฐ (ไอซ์) โทร. 091 – 796 - 9555 อีเมล kanthika.ch@gmail.com ศุภณัฐ พงษ์ปรีชา (แทน) โทร. 095-954-0591 อีเมล tanny.conj@gmail.com
สนใจสมัครสมาชิกสมาคมเพื่อรับข่าวสารและ สิทธิพิเศษในการร่วมกิจกรรมต่างๆได้ที่
Facebook: สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม
#TMTA2021
Comments