top of page
mihas-over-a-year.jpg

บทความ & บทสัมภาษณ์

ไทยขึ้นแท่นเบอร์ 3 โลก ส่งออกเครื่องปรุงรส ขึ้น 135 ล้านเหรียญ


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส ผงปรุงรส เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับสถิติการส่งออกที่พบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเกาหลีใต้ ขยายตัวสูงสุดถึง 33% รองลงมา คือ อาเซียน ขยายตัว 25% และออสเตรเลีย ขยายตัว 25%

นอกจากนี้ ทำให้ไทยขยับขึ้นครองตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหาร อันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 6 ในปี 2562

ความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยเติบโตแต่ เหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ทำให้ในปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารสู่ตลาดโลก เป็นมูลค่าสูงถึง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ พบว่าไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารไปตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึง 2,017% สำหรับการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ พบว่า ขยายตัวถึง 2,632% และหากแยกรายตลาด พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดย

ตลาดอาเซียน ขยายตัวสูงที่สุดถึง 9,752% รองลงมา คือ จีน ขยายตัว 1,731% และ ออสเตรเลีย ขยายตัว 372%

ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ และควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภค ทั้งด้านความสะดวกสบาย และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรเจาะตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย

 

เกร็ดธุรกิจ ซอส เครื่องแกง และเครื่องปรุงรส

ในตลาดต่างประเทศมีการจำแนกรูปแบบเครื่องปรุงรสไว้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานออกเป็นหลายรูปแบบได้แก่


ซอสปรุงอาหาร (Cooking Sauces) แบ่งเป็นประเภทสินค้าย่อย ได้แก่ ซุปก้อน (Bouillon/Stock Cubes) ผงปรุงรส (Dry Sauces/Powder Mixes Dried) สมุนไพรและเครื่องเทศ (Herbs and Spices) ซอสพาสต้า (Pasta Sauces) และน้ำปรุงรส (Wet/Cooking Sauces)


ซอสบนโต๊ะอาหาร (Table Sauces) แบ่งเป็นประเภทสินค้าย่อย ได้แก่ ซอสมะเขือเทศ (Ketchup) มายองเนส (Mayonnaise) มัสตาร์ด (Mustard) ซอสถั่วเหลือง (Soy Based Sauces) น้ำสลัดใส (Vinaigrettes) และซอสบนโต๊ะอาหารอื่น (Other Table Sauces)


ซอสมะเขือเทศชนิดเข้มข้น (Tomato Pastes and Purees) ที่ปราศจากการปรุงแต่งรสชาติ เหมาะสำหรับเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารประเภทสตูว์ หรือทำซอสพาสต้า


ผลิตภัณฑ์หมักดอง (Pickled Products) เช่น แตงกวาดอง โดยทั่วไปใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียง ซึ่งสินค้าเครื่องปรุงรสของไทยอยู่ในกลุ่มที่ 1 และ 2 เป็นหลัก

ดู 215 ครั้ง
bottom of page