top of page
mihas-over-a-year.jpg

บทความ & บทสัมภาษณ์

  • รูปภาพนักเขียนDavudh

ธุรกิจอาหารต้องฟัง คนสั่งออนไลน์เปลี่ยน! จานเดียวมาแรง วัยทำงานสั่งเยอะสุด

ทุกวันนี้คนไทย มีพฤติกรรมสั่งอาหารออนไลน์ หรือ Food delivery มารับประทานกันมากขึ้น New Normal สร้างแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารในเอเชีย ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เกิดพฤติกรรมการซื้ออาหารทานที่บ้านมากขึ้น ผ่านออนไลน์


ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงไป ร้านเล็กร้านน้อยกลับได้รับผลประโยชน์ และมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นในยุค Food delivery

จากผลการรายงานของ GET หนึ่งในผู้ให้บริการจัดส่งอาหารทางออนไลน์ ได้นำเสนอผลวิจัยจากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังนิยมทำอาหารรับประทานเองที่บ้านสูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เปลี่ยน คือ เมื่อต้องการสั่งอาหารมารับประทาน จากเดิมจะใช้วิธีโทรสั่งผ่าน Hot line หรือ ขับรถไปซื้อเอง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีออนไลน์เข้ามา มีการหันมาสั่งผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การโทรสั่งอยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ และขับรถไปซื้อเหลือเพียง 16 เปอร์เซ็นต์

วัยทำงานครองแชมป์สั่งมากสุด 5 ครั้งต่อเดือน

โดยจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม พบว่า คนกรุงเทพมีการใช้บริการจัดส่งอาหารมากสุด 5 ครั้งต่อเดือนต่อคน โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา (18 – 20 ปี) มีการใช้บริการสั่งอาหาร 4.8 ครั้งต่อเดือน วัยเริ่มต้นวัยทำงาน (21 – 30 ปี) หรือ Early Jobber มีการใช้บริการสั่งอาหาร 5.2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งถือว่าเยอะที่สุด ในขณะที่คนทำงานทั่วไป (อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป) หรือ Late Jobber จะมีการใช้บริการสั่งอาหารอยู่ที่ 4.8 ครั้งต่อเดือน โดยจากตัวเลขยอดการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นนี่เอง

จึงได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ธุรกิจ Food Delivery ทั้งหมดจะเติบโตขึ้นถึง 31 เปอร์เซ็นต์ โดยมีมูลค่าถึง 1,800 ล้านบาท

นอกจากตัวเลขการสั่งอาหารออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ยังพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจว่าผู้บริโภคในทุกวันนี้ โดยเฉพาะวัยทำงานมีการหันมาสั่งอาหารในวันธรรมดา เพื่อรับประทานในที่ทำงานกันมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนจะสั่งเพื่อมารับประทานที่บ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์มากกว่า

1.วัยเริ่มต้นทำงาน (Early Jobber) จันทร์ - ศุกร์ สั่งมากินที่บ้าน 22 เปอร์เซ็นต์, ที่ทำงาน 30 เปอร์เซ็นต์ เสาร์ - อาทิตย์ สั่งมากินที่บ้าน 41 เปอร์เซ็นต์, ที่ทำงาน 6 เปอร์เซ็นต์

2.วัยทำงานทั่วไป (Late Jobber) จันทร์ - ศุกร์ สั่งมากินที่บ้าน 22 เปอร์เซ็นต์, ที่ทำงาน 30 เปอร์เซ็นต์ เสาร์ - อาทิตย์ สั่งมากินที่บ้าน 42 เปอร์เซ็นต์, ที่ทำงาน 3 เปอร์เซ็นต์

3.นักเรียนนักศึกษา จันทร์ - ศุกร์ สั่งมากินที่บ้าน 33 เปอร์เซ็นต์, ที่มหาวิทยาลัย 16 เปอร์เซ็นต์ เสาร์ - อาทิตย์ สั่งมากินที่บ้าน 49 เปอร์เซ็นต์, ที่มหาวิทยาลัย 1 เปอร์เซ็นต์


อาหารจานเดียวได้รับความนิยมมากขึ้น

ทุกวันนี้ประเภทของอาหารที่ได้รับความนิยมกลับเป็นอาหารเมนูเดียวและจานเดียว เช่น ชานมไข่มุก โจ๊ก ข้าวหมกไก่ ซึ่งเป็นเมนูอาหารที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะสามารถสั่งได้ แต่ในเมื่อวันนี้สามารถสั่งได้ จึงมีการสั่งกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาหารที่คุ้นเคยและนิยมรับประทานในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว

โดยจากตัวเลขสถิติที่ผ่านมา ที่ทาง GET พบว่า เมนูยอดนิยมอันดับ 1 ที่มีการสั่งเข้ามามากที่สุด ได้แก่ ชานมไข่มุก โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 1.1 ล้านแก้ว

ค่าส่งถูก อาหารหลากหลาย กระตุ้นยอดขายพุ่ง

ซึ่งเหตุผลที่ทำให้คนหันมาสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ

1.ค่าส่งที่ถูกลง

2.ประเภทอาหารที่มีให้เลือกสั่งหลากหลายมากขึ้น

3.ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ โควิด19 ฝุ่น PM 2.5, การจราจรติดขัด ไปถึงการโพสต์รูปบนสื่อโซเซียลต่างๆ ที่เห็นแล้วทำให้อยากสั่งมารับประทานบ้าง

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกร้านค้าต่างๆ คือ

1.เป็นร้านที่รู้จักดีอยู่แล้ว 33 เปอร์เซ็นต์ เพราะทำให้สามารถคาดเดาอาหารที่จะได้รับได้

2.การจัดโปรโมชัน 30 เปอร์เซ็นต์

3.ระยะทางอยู่ไม่ไกล 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากอยู่ไกลเกินไป ถึงอร่อย แต่หากต้องรอนาน ค่าส่งแพง ก็ไม่นิยมสั่ง ดังนั้นหากร้านค้าอยากให้มียอดสั่งเพิ่มมากขึ้น จึงอาจต้องมีการขยายสาขาเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น

นอกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยแล้ว Gojek กลุ่มบริษัทผู้สร้างโมเดลระบบอีโคซิสเต็มและแอปพลิเคชันในการจัดส่งอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึง GET ด้วยนั้น ยังมีการนำเสนอข้อมูลสถิติที่น่าสนใจเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทย คนเวียดนาม และอินโดนีเซีย ไว้เพิ่มเติม 3 ประเด็นดังนี้

  • Food Delivery มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธุรกิจอาหารของ Gojek มีออเดอร์เพิ่มถึง 50 ล้านออเดอร์ต่อเดือน ซึ่งนับรวม 3 ประเทศ ไมว่าจะเป็น Gojek ในอินโดนีเซีย Go-Viet ในเวียดนาม และ GET ในประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของธุรกิจ Food Delivery ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ Gojek เป็นที่รู้จักในฐานะแอปพลิเคชัน สำหรับการเรียกรถและส่งของเพียงอย่างเดียว โดยมั่นใจว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย

  • ผู้บริโภคของไทยมีอายุมากกว่าประเทศอื่นๆ

โดยผู้บริโภคสำหรับตลาด Food Delivery ในไทย คือ กลุ่ม Gen X 31 เปอร์เซ็นต์ และ Gen Y 51 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามจะเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า คือ Gen Y 59 เปอร์เซ็นต์ และ 53 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และ Gen Z 29 เปอร์เซ็นต์ และ 34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม Late Jobbers หรือคนวัยทำงานของไทยที่มีอายุมากในกลุ่ม 41 ปีขึ้นไป มีการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่าและเปิดรับกับไลฟสไตล์การสั่งอาหารออนไลน์มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

  • คนไทยยอมจ่ายเงินมากที่สุดในการสั่งแต่ละครั้ง

คนไทยยอมจ่ายเงินมากที่สุดในการสั่งแต่ละครั้ง โดยเฉลี่ย คนไทยจ่ายเงินต่อ 1 การสั่งซื้อสำหรับบริการ Food Delivery อยู่ที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 175 บาท สูงกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามที่ใช้จ่ายอยู่ราว 3.3 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือ 105 บาท ทำให้ตลาด Food Delivery ของไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง และยอมจ่ายเงินกับอาหารมากกว่านั่นเอง

ข้อมูลและภาพประกอบ : smethailandclub

 
ABOUT THE AUTHOR
Davudh Naveewongpanit

รองนายก TMTA นักธุรกิจสถาบันสอนภาษาอาหรับและวัฒนธรรม นักการตลาด และเทคโนโลยี 
ชอบที่จะแบ่งปันแนวคิดด้านการนวัตกรรม การจัดการ การตลาดเชิงข้อมูล
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเวปไซต์ของ SMEs หลายองค์กร 
และเป็น 1 ใน 5 นักการตลาดชุมชนของ ททท ปี 2020 
ดู 286 ครั้ง
bottom of page