เริ่มต้นปี 2021 กับ สถานการณ์ที่มากับพร้อม บททดสอบรอบที่สอง สิ่งที่แน่นอนอย่างเดียวในห้วงเวลานี้ก็คือ “ความไม่แน่นอน” ดังนั้นการบริหารความไม่แน่นอน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วนต่อไป อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในยุค COVID19
ช่วงเดือนนี้หลายคน งดเดินทางออกนอกพื้นที่ พยายามอยู่บ้าน เพื่อช่วยชาติ
ทำให้เราน่าจะมีเวลาทำบางสิ่งบางอย่างที่ สำคัญคือ “การตั้งเป้าเริ่มต้นทำอะไรใหม่”
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของพี่หนุ่ม The Money Coach เรื่อง “รวย 6 มิติ” ซึ่งน่าสนใจและคิดว่าน่าจะมาปรับใช้และมีประโยชน์มากสำหรับ พี่ๆน้องๆที่อาจจะละเลย หรือ เพิ่งเริ่มทำเรื่องพวกนี้ เพราะปกติตัวผมเองก็มีการตั้งเป้าหมายและวัดผลทุกปีอยู่แล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้ไม่ครบ แต่อย่างน้อยทำได้ 60-70% ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย จริงมั้ยครับ) แต่พอมาอ่านที่พี่หนุ่มเรียบเรียงไว้อันนี้ ทำให้จัดระเบียบเป้าหมายของตัวผมเองได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามมาดูกันเลยครับ
มิติที่ 1 สุขภาพ
เรื่องสำคัญที่ต้องมาก่อน เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีแล้ว ที่เหลือพังหมดไปต่อไม่ได้เลย จะการงาน การเงิน พังเรียบแน่นอน ไหนจะป่วยไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ไหนจะจ่ายค่ารักษา และเรื่องอื่นๆตามมา
ถ้าคิดอะไรไม่ออกเริ่มจากสำรวจน้ำหนักตัว เอาราวๆ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 22 ถึง 25 ส่วนตัวผมว่าโอเคแหละ ใครอยากจะเป๊ะๆ กว่านี้ ถ้าเราอยากรู้ว่า ดัชนีมวลกายมันคืออะไร ก็ค้นจากพี่ Google เอานะครับ ส่วนอาหารการกินศาสนาอิสลามสอนไว้อยู่แล้วว่าให้บริโภค “ฮาลาลลันตอยยีบัน” คือ ให้ถูกต้องตามหลักศาสนา และสุขภาพ สะอาด ปลอดภัย นั่นเอง
หรือ ถ้าใครอยากเรียนรู้ มากขึ้นก็แนะนำให้ตามไปอ่านบทความของ โค้ชก๊อฟฟารี่ วรรษธรา – วิถีมุสลิมกับการดูแลสุขภาพยุคใหม่ ได้ที่นี่ครับ
มิติที่ 2 ครอบครัว(ความสัมพันธ์)
หลายคนมักทำงานจนลืมให้เวลาความสัมพันธ์กับครอบครัวหากจะมีสิ่งมาช่วยเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ เราขอแนะนำให้กำหนดเป้าหมายเวลาและกิจกรรมที่อยากทำร่วมกับครอบครัวให้ชัดเจน ใส่ตรงนี้ไปก่อนได้เลยครับ แล้วเรื่องงาน หรือ ประชุมค่อยใส่ตามลำดับ
เช่น การจัดทริปท่องเที่ยวกับครอบครัวเดือนหรือปีละ 1 ครั้ง , กำหนดการกลับบ้านไปหาพ่อแม่ เดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง
ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ดังนั้นเมื่อสานความสัมพันธ์ให้แน่น จะทำให้คุณสุขใจ อย่ามัวให้พ่อแม่ สามี ภรรยา ลูก และครอบครัวรอเรานานนะ
มิติที่ 3 การงาน
- เราจะมีชีวิตที่มีความสุขไม่ได้ ถ้าเราขาดความรู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเอง และหน้าที่การงานของเรานี่แหละ คือตัวชี้วัดและคอยยกระดับความรู้สึก ความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเราได้
- ลองตั้งเป้าดูว่ามีความคาดหวังอะไรกับงานของเราบ้าง เช่น งานที่ทำอาจจะชอบ เรายังอยากพัฒนาให้เก่งขึ้นกว่านี้จนได้ไหม หรืออยากทำงานอดิเรกขึ้นมาซึ่งอาจเป็นรายได้อีกทางหนึ่งในอนาคตครับ
มิติที่ 4 การเงิน
เราควรจะมีเงินออมส่วนตัว อย่างน้อย 3 ถึง 5 หมื่นบาท หรือ ซัก 3 ถึง 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนของเรา (ถ้ายังไม่รู้ว่ารายจ่ายต่อเดือนของเราเท่าไหร่ ลองนั่ง List ออกมาดูว่าเดือนๆ นึงน่าจะต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง) เงินออมจะทำให้ชีวิตเราปลอดภัยจากค่าใช้จ่าย Surprise หรือ บททดสอบต่างๆ ที่อาจจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว การที่มีเงินสำรองก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปรกติ โดยเงินสำรองยามฉุกเฉินนี้ หมายถึง เม็ดเงินที่จะสามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยได้ในยามที่กระแสเงินสดของเราสะดุด ซึ่งธุรกิจเองก็ต้องคำนึงถึงส่วนนี้เช่นกัน
มิติที่ 5 การพัฒนาตัวเอง
ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ สุดยอดนักลงทุนระดับตำนานที่ยังมีชีวิต ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การลงทุนกับตัวเอง คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด” เพราะวันที่คุณเก่ง คุณก็จะมีค่าตัว (เงินเดือน) สูงได้ไม่ยากเลย นี่ยังไม่นับโอกาสต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะงานประจำ หรืองานสร้างรายได้เพิ่ม เพราะความรู้มันจะอยู่ติดตัวเรา แบบที่ไม่มีใครเค้ามาแงะออกไปได้
สมมุติอยากเก่งภาษาขึ้น ก็เอาเวลาไปลงทุนกับเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ว่าลงเรียนคอร์สที่ช่วยให้เราพัฒนา หรือ เรียนภาษาที่สถาบัน Alhijrah ก็มี แต่สำคัญคือเราควรตั้งใจ การเนียต (ตั้งเจตนา) หรือเขียนหนังสือ ก็หาเวลาไปฝึกเขียน ง่ายๆ ก็อาจจะเริ่มจากการเขียนบทความบน Blog ส่วนตัว หรือ FB ก่อนก็ได้
มิติที่ 6 แบ่งปันสังคม
อิสลามมีวิถีแบ่งปัน ให้ผู้ร่วมสังคม ที่ถูกระบุเป็นข้อบัญญัติ และเป็นจิตอาสา ทั้งเรื่อง ซะกาต ถูกบัญญัติในข้อหนึ่งของหลักการอิสลาม 5 ประการ การแบ่งปันจากผู้มีทรัพย์ ตามกฎเกณฑ์เพื่อคืนสู่สังคม อย่างเป็นธรรม
และ เรื่อง ศอดาเกาะฮฺ หนึ่งการเแบ่งปันที่ผู้มีมากกว่ามอบแด่ผู้มีน้อยกว่า และผลบุญจะตามติดไปถึงโลกหน้า ทั้งในการให้ความรู้ ครอบคลุม ชุมชน สังคม และ ประชาชาติ
ส่วนการบริจาคทานสมัครใจไม่กำหนดรูปแบบ และปริมาณ ซึ่งสามารถทำได้แม้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า
“ ผู้ใดในหมู่พวกท่านสามารถที่จะปกป้องไฟนรก เขาก็จงบริจาค แม้เพียงซีกหนึ่งของผลอินทผลัม แล้วถ้าใครไม่มีก็จงพูดจาสุภาพเรียบร้อย (ก็ถือว่าเป็นการบริจาคทานแล้ว) ”
(บันทึกโดยอะฮหมัด และมุสลิม)
คนเราหลายคนมักบอกว่า รอมีเงินเหลือก่อนแล้วจะค่อยเอาไปบริจาค แต่สุดท้ายก็ไม่เหลือ ส่วนคนสำเร็จเขาจะให้ก่อนได้รับ ยิ่งเขาให้มาก ก็จะได้กลับคืนมามาก
สุดท้ายการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนวัดผลได้ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ มันจะช่วยทำให้รู้จุดหมายในชีวิตที่ตัวเราอยากได้
ดังนั้นอย่ามัวแต่อ่านอย่างเดียว ไปลงมือทำได้แล้วครับ เพราะการเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดคือการเรียนและนำไปลงมือทำจริง...
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ เอาใจช่วยทุกคนและขออัลลอฮคุ้มครองเราทุกคนนะครับ อามีน
ABOUT THE AUTHOR
Davudh Naveewongpanit
รองนายก TMTA นักธุรกิจด้านภาษา การตลาด และเทคโนโลยี
ชอบที่จะแบ่งปันแนวคิดด้านการนวัตกรรม การจัดการ การตลาดเชิงข้อมูล
ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเวปไซต์ของ SMEs หลายองค์กร
และเป็น 1 ใน 5 นักการตลาดชุมชนของ ททท ปี 2020
Comments